Tilsit, Treaty of (7ᵗʰ July 1807)

สนธิสัญญาทิลซิท (ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗)

สนธิสัญญาทิลซิทเป็นสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย ลงนามเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ ภายหลังกองทัพรัสเซียพ่ายแพ้แก่กองทัพฝรั่งเศสในยุทธการที่ฟรีดลันด์ (Battle of Friedland) ในโปแลนด์ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* และซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* ทรงเจรจาสงบศึก ณ ปะรำบนแพกลางแม่น้ำเนมัน (Neman) เมืองทิลซิทในเขตโปแลนด์ [ปัจจุบันคือเมืองโซเวตสค์ (Sovetsk) ในคาลินินกราดโอบลาสต์ (Kaliningrad Oblast) รัสเซีย] นับเป็นการปิดฉากสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (The Fourth Coalition War ค.ศ. ๑๘๐๖–๑๘๐๗) สนธิสัญญาทิลซิทเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าไปมีอำนาจและอิทธิพลในดินแดนเยอรมันแทนปรัสเซีย โดยปรัสเซียได้สูญเสียดินแดนในครอบครองไปกว่าครึ่ง รวมทั้งถูกลดกำลังทหารไปเป็นจำนวนมาก ส่วนรัสเซียแม้จะได้รับดินแดนบางส่วนของดินแดนเยอรมัน แต่ต้องสูญเสียบทบาทการเป็นประเทศมหาอำนาจและถูกบีบให้เข้าร่วมในนโยบายปิดล้อมเกาะอังกฤษทางเศรษฐกิจตามระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงจัดตั้งขึ้น ทำให้รัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจ การระบายสินค้าเกษตรกรรม และการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ท้ายที่สุด รัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาทิลซิทและระบบภาคพื้นทวีป โดยทำการค้ากับอังกฤษจนเป็นเหตุให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องเปิดศึกกับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๑๒ ความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียตามสนธิสัญญาทิลซิทจึงสิ้นสุดลง

 สนธิสัญญาทิลซิทเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการขยายอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ หลังจากที่ฝรั่งเศสได้หวนกลับมาใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้งในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* นโยบายดังกล่าวได้นำฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* กับนานามหาอำนาจยุโรป ก่อให้เกิดสงครามยืดเยื้อและยุทธการครั้งต่าง ๆ มากมายด้วยกันใน ค.ศ. ๑๘๐๕ อังกฤษ ออสเตรีย รัสเซีย และสวีเดนได้ผนึกกำลังกันก่อสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (Third Coalition ค.ศ. ๑๘๐๕) กับฝรั่งเศส นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งแรกในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ ในสงครามครั้งนี้ กองทัพเรือฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อกองทัพเรืออังกฤษในยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* ณ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน และทำให้ความหวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่จะทำลายกองทัพเรืออังกฤษและแผนการยกกองทัพเรือฝรั่งเศสข้ามช่องแคบเพื่อไปพิชิตเกาะอังกฤษต้องสิ้นสุดลง ขณะเดียวกันก็ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงมุ่งมั่นมากขึ้นที่จะพิชิตกองทัพของประเทศพันธมิตรในการรบทางบก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ กองทัพฝรั่งเศสสามารถรบชนะกองทัพรัสเซียและออสเตรียได้ในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)* ทำให้รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามไปชั่วขณะ ส่วนออสเตรียถูกบังคับให้สงบศึกด้วยสนธิสัญญาเพรสบูร์ก (Treaty of Pressburg) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม และถูกลดบทบาทเป็นรัฐพันธมิตรของฝรั่งเศส ทั้งถูกขับออกจากดินแดนเยอรมันเมื่อมีการสถาปนาสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* อย่างเป็นทางการ และทำให้อำนาจและบทบาทของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งออสเตรียที่มีในดินแดนเยอรมันนับร้อย ๆ ปีหมดสิ้นลงด้วย ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ ฝรั่งเศสก็ชนะกองทัพปรัสเซียในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* นับเป็นการปราชัยอย่างย่อยยับของกองทัพฝ่ายพันธมิตร

 ขณะเดียวกัน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงวางแผนการรบต่อไปที่จะทำลายเศรษฐกิจอังกฤษทางอ้อมด้วยการปิดล้อมเกาะอังกฤษไม่ให้ค้าขายทางทะเลกับเมืองต่าง ๆ ในยุโรปและห้ามประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่อยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสค้าขายกับอังกฤษ พระองค์ทรงคาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเสื่อมทรุดและเกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม แผนการนี้เรียกว่าระบบภาคพื้นทวีป ในการนี้ พระองค์ทรงออกพระราชกฤษฎีกาเบอร์ลิน (Decree of Berlin) ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ประกาศปิดล้อมเกาะอังกฤษและปิดเมืองท่าทั้งหมดในยุโรป ทั้งห้ามนำสินค้าจากอังกฤษทุกประเภทเข้าไปในดินแดนที่ฝรั่งเศสมีอำนาจปกครองหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส อังกฤษตอบโต้ด้วยการปิดล้อมอ่าวทุกประเทศในยุโรปที่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาเบอร์ลินและห้ามเรือที่เป็นกลางค้าขายกับฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและพันธมิตรจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น

 อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์จะเลวร้ายลงแต่กองทัพรัสเซียยังคงมุ่งมั่นที่จะพิชิตฝรั่งเศสและป้องกันการสูญเสียอำนาจและอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก ในยุทธการที่ฟรีดลันด์ในโปแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๗ กองทัพรัสเซียภายใต้การนำของเลออนตี เลออนเตียวิช เคานต์ ฟอน เบนนิงเซิน (Leonty Leontyevich, Count von Benningsen) ได้ล่าถอยไปติดแม่น้ำเนมัน ดังนั้นหลังจากที่ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงได้รับทราบถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซีย พระองค์จึงส่งเจ้าชายดิมิตรี โลบานอฟ-รอสตอฟสกี (Dimitry LobanovRostovsky) แม่ทัพไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ ณ เมืองทิลซิทเพื่อขอเจรจาสงบศึก ต่อมาในวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ได้เสด็จมาพบกันในปะรำบนแพกลางแม่น้ำเนมันเพื่อทรงเจรจาสงบศึกอย่างเป็นทางการและเป็นการส่วนพระองค์ อันเป็นที่มาของสนธิสัญญาทิลซิทโดยมีเจ้าชายชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ คูราคิน (Alexander Kurakin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำฝรั่งเศส และเจ้าชายดิมิตรีโลบานอฟ-รอสตอฟสกีเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญา

 สนธิสัญญาทิลซิทเป็นชัยชนะทางการทูตอย่างงดงามของฝรั่งเศส เพราะสามารถทำให้รัสเซียกลายเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสและเข้าร่วมในระบบภาคพื้นทวีปเพื่อต่อต้านอังกฤษ และทำให้อังกฤษต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ส่วนปรัสเซียซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามถูกลดสถานภาพของการเป็นประเทศมหาอำนาจ ทั้งจำนวนทหารประจำการถูกลดลง และต้องเสียดินแดนจำนวนมาก รวมทั้งสิทธิในการปกครองดินแดนในโปแลนด์และดินแดนระหว่างแม่น้ำเอลเบ (Elbe) กับแม่น้ำไรน์ (Rhine) และอื่น ๆ อย่างไรก็ดี แม้สนธิสัญญาทิลซิทจะมีข้อตกลงจำนวนมากและมีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแผนที่ของยุโรปและการสร้างระบบพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย แต่ก็เป็นสนธิสัญญาลับที่ไม่เปิดเผยแก่สาธารณชน และยังมีข้อตกลงลับอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงในต้นฉบับของสนธิสัญญาอีกด้วย

 สาระสำคัญของสนธิสัญญาทิลซิท คือ ให้ยุติสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย ให้ประเทศทั้งสองเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกัน ให้ราชสำนักตุยเลอรี (Tuileries) และราชสำนักเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) มีความเสมอภาคในการต้อนรับทูตานุทูตและเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักนั้น ๆ ให้รัสเซียยอมรับในบทบาทและอำนาจของฝรั่งเศสในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตก และเพื่อลดบทบาทและอำนาจของปรัสเซียในดินแดนเยอรมัน ให้ปรัสเซียต้องคืนดินแดนต่าง ๆ หรือเมืองให้แก่ผู้ปกครองเดิมรวมทั้งโปแลนด์ซึ่งปรัสเซียได้ผนวกมาในเหตุการณ์การแบ่งโปแลนด์ (Partition of Poland) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๒–๑๗๙๕ และให้จัดตั้งเป็นราชรัฐวอร์ซอ (Duchy of Warsaw) โดยให้อยู่ในอำนาจของกษัตริย์แห่งแซกโซนี (Saxony) ซึ่งเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสให้มีการรวมดินแดนต่าง ๆ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเอลเบที่เคยอยู่ในปกครองของปรัสเซีย แล้วจัดตั้งเป็นราชอาณาจักรเวสต์ฟาเลีย (Kingdom of Westphalia) และให้จัดตั้งดานซิก (Danzig)* เป็นเสรีนคร ให้รัสเซียยอมรับเจ้าชายโชแซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)* พระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ เจ้าชายหลุยส์โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte)* พระอนุชาองค์รองในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นกษัตริย์แห่งฮอลแลนด์และเจ้าชายเจโรม โบนาปาร์ต (Jerome Bonaparte)* พระอนุชาองค์เล็กในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นกษัตริย์แห่งเวสต์ฟาเลีย รวมทั้งให้ยอมรับการจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ โดยมีจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นผู้นำ ทั้งปรัสเซียต้องเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสอีกด้วย นอกจากนี้ ยังให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้อังกฤษยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศส โดยมีกรอบเวลา ๑ เดือนหลังจากการลงสัตยาบันสนธิสัญญาทิลซิทที่กำหนดให้มีขึ้นใน ๔ วันข้างหน้า หากล้มเหลวและฝรั่งเศสต้องเข้าสู่สงครามกับอังกฤษ รัสเซียจะต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสให้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือแก่รัสเซียในการ “ปลดปล่อย” ดินแดนต่าง ๆ ของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียให้เป็นอิสระ ในกรณีที่รัสเซียต้องเข้าสู่สงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน ฝรั่งเศสจะเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย รวมทั้งฝรั่งเศสจะสนับสนุนให้รัสเซียเข้าครอบครองฟินแลนด์ที่อยู่ใต้อำนาจของสวีเดนด้วย

 นอกจากนี้ อีก ๒ วันต่อมา ในวันที่ ๙ กรกฎาคม รัสเซียได้ทำสนธิสัญญาทิลซิทฉบับที่ ๒ หรือสนธิสัญญาทิลซิท ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ (Treaty of Tilsit, 9ᵗʰ July 1807) กับปรัสเซีย เพื่อให้ปรัสเซียปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาทิลซิท ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ โดยปรัสเซียต้องสูญเสียดินแดนในปกครองไปประมาณครึ่งหนึ่งของดินแดนทั้งหมดจากพื้นที่จำนวน ๓๒๓,๓๐๘.๔ ตารางกิโลเมตร เหลือ ๑๕๘,๘๖๗.๓ ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ประชากรลดจำนวนลงจาก ๙.๔ ล้าน เหลือน้อยกว่า ๔.๕ ล้าน ให้ยอมรับการจัดตั้งราชอาณาจักรเวสต์ฟาเลียและราชรัฐวอร์ซอ ให้ยกเบียวิสตอคโอบลาสต์ (Białystok Oblast) ให้แก่รัสเซีย ลดจำนวนทหารประจำการเหลือเพียง ๔๐,๐๐๐ คน และจ่ายเงินบรรณาการแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนเงิน ๑๕๔,๕๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ รวมทั้งต้องร่วมมือกับฝรั่งเศสในการปิดล้อมอังกฤษตามมาตรการในระบบภาคพื้นทวีปอีกด้วย นับเป็นสนธิสัญญาที่สร้างความอัปยศให้แก่ปรัสเซียและลดบทบาทของปรัสเซียในดินแดนเยอรมันเป็นอันมาก จนกล่าวกันว่าเพียงจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยกพระหัตถ์เท่านั้น ราชอาณาจักรปรัสเซียก็สามารถหายวับไปกับตา

 ส่วนรัสเซีย แม้สนธิสัญญาทิลซิทจะกระทำกันโดยยึดหลักการความเสมอภาคของทั้ง ๒ ประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความอับอายให้แก่รัสเซีย ทั้งยังถูกกำกับหรือเขียนขึ้นตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ มากกว่า การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและอยู่ในกติกาของระบบภาคพื้นทวีปทำให้รัสเซียต้องเสียรายได้มหาศาลที่จะได้จากการทำการค้ากับอังกฤษ ในอดีตระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๒–๑๘๐๖ รัสเซียได้ส่งสินค้าออกไปขายให้แก่อังกฤษในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ของอังกฤษ ได้แก่ ปอแฟลกซ์ (flax) จำนวนร้อยละ ๙๐ ป่าน (hemp) ร้อยละ ๗๓ ลินินร้อยละ ๔๒ และแร่เหล็กร้อยละ ๗๑ รวมทั้งเผือกร้อยละ ๗๐ ไม้ ข้าว และสินค้าอื่น ๆ อีกหลายประเภท การห้ามส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและแร่เหล็กดังกล่าวทำให้คลังเก็บสินค้าพืชผลเกษตรกรรมของรัสเซียมีปริมาณล้นและเกินกำลังที่จะจัดเก็บได้ สินค้าต่าง ๆ จึงได้รับความเสียหายและประเทศต้องสูญรายได้อย่างมหาศาล ระบบภาคพื้นทวีปจึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดินและพ่อค้าเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เรือสินค้าจำนวนมากกว่าครึ่งยังถูกจอดทิ้งที่ท่าเรือในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เนื่องจากถูกห้ามเดินทางเข้าออกเมืองท่าอังกฤษตามพระราชกฤษฎีกาแห่งมิลาน (Decree of Milan) ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงประกาศใช้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ รวมทั้งรัสเซียต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นที่เคยนำเข้าจากอังกฤษอีกด้วย

 ขณะเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ ได้เกิดสงครามคาบสมุทร (Peninsular War) ขึ้น โดยสเปนและโปรตุเกสซึ่งประสบปัญหาจากระบบภาคพื้นทวีปได้ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสในการงดการติดต่อค้าขายกับอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเศสส่งกำลังเข้าปราบปรามดินแดนทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งนำไปสู่สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ (Fifth Coalition War ค.ศ. ๑๘๐๙) กองทัพอังกฤษให้ความช่วยเหลือสเปนและโปรตุเกสจนสามารถต้านทานกองทัพฝรั่งเศสได้ และทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะถอนตัวออกจากการเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศส และติดต่อค้าขายกับอังกฤษซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาทิลซิทและมาตรการในระบบภาคพื้นทวีป กอปรกับรัสเซียและฝรั่งเศสมีความขัดแย้งกันในปัญหาดินแดนเยอรมันและการจัดตั้งราชรัฐวอร์ซอที่ประชิดพรมแดนรัสเซียและทำให้รัสเซียรู้สึกไม่ปลอดภัย ตลอดจนรัสเซียอนุญาตให้เรือต่างชาติที่ติดต่อค้าขายกับอังกฤษเข้าจอดในท่าเรือของรัสเซียได้ ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงทรงส่งกองทัพฝรั่งเศสกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน เคลื่อนกำลังบุกรัสเซียโดยเดินทัพผ่านราชอาณาจักรแซกโซนี เข้าโปแลนด์ และข้ามแม่น้ำเนมันซึ่งเป็นสถานที่เจรจาทำสนธิสัญญาทิลซิท สนธิสัญญาทิลซิทจึงสิ้นสุดโดยปริยาย ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความปราชัยอย่างยับเยินของกองทัพฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน อันเนื่องมาจากการรวมตัวของประเทศมหาอำนาจในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ (Sixth Coalition War ค.ศ. ๑๘๑๒–๑๘๑๔) และสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗ (Seventh Coalition War ค.ศ. ๑๘๑๕) ซึ่งนำความหายนะมาสู่จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ และการสิ้นสุดอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๘๑๕.



คำตั้ง
Tilsit, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาทิลซิท
คำสำคัญ
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ตาเลรอง-เปรีกอร์, ชาร์ล โมริซ เดอ
- นโปเลียนที่ ๑
- พระราชกฤษฎีกาเบอร์ลิน
- ยุทธการที่ฟรีดลันด์
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- ยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์
- ยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์
- ระบบภาคพื้นทวีป
- สงครามคาบสมุทร
- สงครามนโปเลียน
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗
- สนธิสัญญาทิลซิท
- สนธิสัญญาทิลซิท ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗
- สนธิสัญญาทิลซิท ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗
- สนธิสัญญาเพรสบูร์ก
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
- สัญญาสงบศึก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
7ᵗʰ July 1807
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-